ความเป็นมาของสงครามเย็น
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง โดยเยอรมนีเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ต่อฝ่ายสหประชาชาติ
ทำให้สหรัฐอเมริกาและโซเวียตขาดจุดมุ่งหมายที่จะดำเนินการร่วมกันอีกต่อไป
และความขัดแย้งก็เริ่มต้นขึ้นหลังจากทั้งสองประเทศมีมุมมองต่ออนาคตของประเทศในยุโรปตะวันออกและประเทศเยอรมนีแตกต่างกัน
และทำให้เกิดความขัดแย้งทางอุดมการณ์อย่างชัดเจน กล่าวคือ
เกี่ยวกับประเทศยุโรปตะวันออกนั้น ประเทศทั้งสองได้เคยตกลงกันไว้ที่เมืองยัลต้า (Yalta)
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1945
ว่า
"……เมื่อสิ้นสงครามแล้ว
จะมีการสถาปนาการปกครองระบบประชาธิปไตยในประเทศเหล่านั้น" แต่พอสิ้นสงคราม
โซเวียตได้ใช้ความได้เปรียบของตนในฐานะที่มีกำลังกองทัพอยู่ในประเทศเหล่านั้น
สถาปนาประชาธิปไตยตามแบบของตนขึ้นที่เรียกว่า "ประชาธิปไตยของประชาชน"
ฝ่ายสหรัฐอเมริกาจึงทำการคัดค้าน เพราะประชาธิปไตยตามความหมายของสหรัฐอเมริกา
หมายถึง "เสรีประชาธิปไตยที่จะเปลี่ยนรัฐบาลได้โดยวิธีการเลือกตั้งที่เสรี"
ส่วนโซเวียตก็ยืนกรานไม่ยอมให้มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ
ส่วนในประเด็นที่เกี่ยวกับประเทศเยอรมนีก็เช่นกัน
เพราะโซเวียตไม่ยอมปฏิบัติการตามการเรียกร้องของสหรัฐอเมริกาที่ให้มีการรวมเยอรมนี
และสถาปนาระบอบเสรีประชาธิปไตยในประเทศนี้ตามที่ได้เคยตกลงกันไว้
ความไม่พอใจระหว่างประเทศทั้งสองเพิ่มมากขึ้น เมื่อประธานาธิบดีทรูแมน (Harry
S. Truman) ของสหรัฐอเมริกา
ได้สนับสนุนสุนทรพจน์ของอดีตนายกรัฐมนตรีเชอร์ชิล (Sir. Winston Churchill)
ของอังกฤษ ซึ่งได้กล่าวในรัฐมิสซูรี เมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ.1946
ว่า "ม่านเหล็กได้ปิดกั้นและแบ่งทวีปยุโรปแล้ว
ขอให้ประเทศพี่น้องที่พูดภาษาอังกฤษด้วยกัน ร่วมมือกันทำลายม่านเหล็ก (Iron
Curtain)" ซึ่งหมายความว่า
เชอร์ชิลล์เรียกร้องให้มีการจับขั้วพันธมิตรระหว่างสหรัฐอเมริกากับอังกฤษเพื่อต่อต้านสหภาพโซเวียต
ซึ่งถูกมองว่าเป็นผู้สร้างม่านเหล็กกั้นยุโรป และด้วยสุนทรพจน์นี้เอง
ทำให้ประเทศในโลกนี้แตกออกเป็นสองฝ่ายระหว่างประเทศประชาธิปไตยและคอมมิวนิสต์อย่างชัดเจน
ส่วนปัญหาที่แสดงให้เห็นถึงการแข่งขันในการเป็นผู้นำของโลกแทนมหาอำนาจยุโรปก็คือ
การที่สหรัฐอเมริกาสามารถบังคับให้โซเวียตถอนทหารออกจากอิหร่านได้สำเร็จในปี ค.ศ.1946
ต่อมาในเดือนมีนาคม ค.ศ.1947
อังกฤษได้ประกาศสละความรับผิดชอบในการช่วยเหลือกรีซ และตุรกี
ให้พ้นจากการคุกคามของคอมมิวนิสต์ เพราะไม่มีกำลังพอที่จะปฏิบัติการได้
และร้องขอให้สหรัฐอเมริกาเข้าทำหน้าที่นี้แทน
ประธานาธิบดีทรูแมนจึงตกลงเข้าช่วยเหลือและประกาศหลักการในการดำเนินนโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาให้โลกภายนอกทราบว่า
"……จากนี้ไปสหรัฐอเมริกาจะเข้าช่วยเหลือรัฐบาลของประเทศที่รักเสรีทั้งหลายในโลกนี้ให้พ้นจากการคุกคามโดยชนกลุ่มน้อยในประเทศที่ได้รับการช่วยเหลือจากต่างประเทศ…"
หลักการนี้เรียกกันว่า หลักการทรูแมน (Truman Doctrine)
จากนั้น สหรัฐอเมริกาก็แสดงให้ปรากฏว่า
ตนพร้อมที่จะใช้กำลังทหารและเศรษฐกิจ
สกัดกั้นการขยายอิทธิพลของคอมมิวนิสต์ทุกแห่งในโลก ไม่ว่าจะเป็นทวีปยุโรป เอเชีย
หรือแอฟริกา ทำให้ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1947
ผู้แทนของโซเวียตได้ประกาศต่อที่ประชุมพรรคคอมมิวนิสต์ทั่วโลกที่นครเบลเกรด
ประเทศยูโกสลาเวีย ว่า "…..โลกได้แบ่งออกเป็นสองค่ายแล้วคือ
ค่ายจักรวรรดินิยมอเมริกันผู้รุกราน กับค่ายโซเวียตผู้รักสันติ…และเรียกร้องให้คอมมิวนิสต์ทั่วโลก
ช่วยสกัดกั้นและทำลายสหรัฐอมริกา…." ฉะนั้น
จึงกล่าวได้ว่าถ้อยแถลงของผู้แทนโซเวียตนี้เป็นการประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการ
อย่างไรก็ตาม
สงครามเย็นที่มีลักษณะเป็นทั้งการขัดแย้งทางอุดมการณ์และการแข่งขันเพื่อกำลังอำนาจของประเทศมหาอำนาจทั้งสอง
ซึ่งต้องการที่จะเป็นผู้นำโลก ได้เริ่มเปลี่ยนแปลงไปในลักษณะที่ลดความรุนแรง
ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1960 เป็นต้นมา
เนื่องจากได้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองระหว่างประเทศสำคัญ 2
ประการคือ
1. การดำเนินนโยบาย
"การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ" (Peaceful Co-existence) ของประธานาธิบดี
นิกิตา ครุสชอฟ (Nikita Khrushchev) ของโซเวียต
เนื่องจากเกรงว่าอำนาจนิวเคลียร์ที่โซเวียตและสหรัฐอเมริกามีเท่าเทียมกัน
อาจถูกนำมาใช้ในกรณีที่ความตึงเครียดระหว่างสองฝ่ายมีความรุนแรงขึ้น
นอกจากนี้ยังเชื่อว่าประเทศที่มีลัทธิการเมืองและลัทธิเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน
จะสามารถติตดต่อค้าขายและมีความสัมพันธ์ต่อกันได้
โดยไม่ยุ่งเกี่ยวในกิจการภายในซึ่งกันและกัน ดังนั้น
การต่อสู้ระหว่างค่ายเสรีประชาธิปไตยกับค่ายคอมมิวนิสต์อาจจะเอาชนะกันได้โดยไม่ต้องใช้กำลัง
อย่างไรก็ตาม หลักการอยู่ร่วมกันโดยสันติของโซเวียต
เป็นเพียงแต่การเปลี่ยนจากการมุ่งขยายอิทธิพลด้วยสงครามอย่างเปิดเผยไปเป็นสงครามภายในประเทศและการบ่อนทำลาย
ฉะนั้น ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1963 เป็นต้นมา
สหรัฐอเมริกาและโซเวียตต่างใช้วิธีการทุกอย่างทั้งด้านการทหาร การเมือง
และเศรษฐกิจ ในการแข่งขันกันสร้างความนิยม ความสนับสนุนและอิทธิพลในภูมิภาคต่าง ๆ
ของโลก โดยหลีกเลี่ยงการใช้อาวุธและการประจันหน้ากันโดยตรง
2. ความแตกแยกในค่ายคอมมิวนิสต์ระหว่างโซเวียตกับสาธารณรัฐประชาชนจีน
ซึ่งเริ่มปรากฏตั้งแต่ปี ค.ศ. 1960 เป็นต้นมา
และเมื่อจีนสามารถทดลองระเบิดปรมาณูสำเร็จและกลายเป็นประเทศมหาอำนาจนิวเคลียร์ในปี
ค.ศ. 1964 ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสองก็เสื่อมลง
จนถึงขึ้นปะทะกันโดยตรงด้วยกำลังในปี ค.ศ. 1969
จากความขัดแย้งทางด้านอุดมการณ์และการแข่งขันกันเป็นผู้นำในโลกคอมมิวนิสต์
ระหว่างจีนกับโซเวียต มีผลทำให้ความเข้มแข็งของโลกคอมมิวนิสต์ลดน้อยลง
และมีส่วนผลักดันให้จีนเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างประเทศ
ไปสู่การปรับความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกาในที่สุด
ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1970 เป็นต้นมา
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมหาอำนาจเริ่มคืนสู่สภาวะปกติ
โดยใช้วิธีการหันมาเจรจาปรับความเข้าใจกัน
ดำเนินนโยบายเกี่ยวกับที่เอื้อต่อผลประโยชน์ และความมั่นคงปลอดภัยของ ประเทศตน
ระยะนี้จึงเรียกว่า "ระยะแห่งการเจรจา" (Era of Negotiation) หรือระยะ
"การผ่อนคลายความตึงเครียด" (Detente) โดยเริ่มจากสหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของประธานาธิบดีริชาร์ด
นิกสัน ซึ่งเป็นผู้ปรับนโยบายจากการเผชิญหน้ากับโซเวียต
มาเป็นการลดความตึงเครียดในความสัมพันธ์ต่อกัน
นอกจากนี้ยังได้เปิดการเจรจาโดยตรงกับสาธารณรัฐประชาชนจีนด้วย
ทั้งนี้เพราะตระหนักว่าจีนได้กลายเป็นมหาอำนาจนิวเคลียร์อีกชาติหนึ่ง
และกำลังจะมีบทบาทมากขึ้นในประเทศด้อยพัฒนา
และประเทศที่เพิ่งเกิดใหม่ทั้งในทวีปเอเชีย แอฟริกา ลาตินอเมริกา และยุโรป
ดังนั้น ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1971 สหรัฐอเมริกาได้ส่งนายเฮนรี่
คิสชินเจอร์ ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่ชาติ เดินทางไปปักกิ่งอย่างลับ ๆ
เพื่อหาลู่ทางในการเจรจาปรับความสัมพันธ์กับจีน ซึ่งนำไปสู่การเยือนปักกิ่งของ
ประธานาธิบดีนิกสัน ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1972
และได้ร่วมลงนามใน "แถลงการณ์เซี่ยงไฮ้" (Shanghai Joint
Communique) กับอดีตนายกรัฐมนตรีโจว เอินไหล
ซึ่งมีสาระที่สำคัญคือ สหรัฐอเมริกายอมรับว่า รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน
เป็นรัฐบาลอันชอบธรรมเพียงรัฐบาลเดียวและไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศจีน
จากนั้นมาทั้งสองประเทศได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตต่อกันในวันที่ 1
มกราคม ค.ศ. 1979
นอกจากนี้ สหรัฐอเมริกาและโซเวียต
ได้พยายามที่จะปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างกันในลักษณะที่เป็นการผ่อนคลายความตึงเครียดระหว่างประเทศทั้งสอง
ซึ่งจะเห็นได้จากการเปิดการ เจรจาจำกัดอาวุธยุทธศาสตร์ ครั้งแรกที่กรุงเฮลซิงกิ
ที่เรียกว่า SALT-1 (Strategic Arms Limitation Talks) ในปี
ค.ศ. 1972
ซึ่งเป็นการเริ่มแนวทางที่จะให้เกิดความร่วมมือและสันติภาพ ในปีเดียวกันนี้ประธานาธิบดีนิกสันก็ได้ไปเยือนโซเวียต
ส่วนเบรสเนฟเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ของโซเวียต ก็ได้ไปเยือนสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ.
1973
ต่อมาประเทศทั้งสองได้เจรจาร่วมลงนามในสนธิสัญญาจำกัดอาวุธยุทธศาสตร์ ฉบับที่ 2
(SALT-2) ที่เวียนนา ในวันที่ 18
มิถุนายน ค.ศ. 1979
ซึ่งมีผลทำให้โซเวียตมีความเท่าเทียมกับสหรัฐอเมริกา
ทั้งทางการเมืองและทางแสนยานุภาพ
นอกจากนั้นยังได้รับผลประโยชน์ทางการค้ากับฝ่ายตะวันตกเพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม
แม้ว่าโซเวียตจะยอมร่วมมือกับสหรัฐอเมริกาในบางกรณีที่เป็นผลประโยชน์แก่ตน แต่โซเวียตก็ยังคงดำเนินนโยบายแผ่ขยายอำนาจและอิทธิพลเข้าไปในดินแดนต่าง
ๆ ทั้งในเอเชีย แอฟริกา และลาตินอเมริกา
แต่โซเวียตก็พยายามระมัดระวังไม่ให้เกิดการกระทบกระทั่งที่จะนำไปสู่การทำลายสภาพการผ่อนคลายความตึงเครียด
ซึ่งจะมีผลทำให้เกิดความขัดแย้งและอาจจะไปสู่สงครามได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น